มโนราห์ การละเล่นพื้นเมืองของภาคใต้

ศิลปะการแสดงเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา

เป็นศาสตร์ชั้นแนวหน้าที่ทุกคนต้องเรียนรู้ ต้องสนใจ และต้องพยายามทำให้ได้ จนเกิดเป็นความเชื่อที่ว่า หากชายใดจะไปขอลูกสาวใคร จะต้องตอบคำถาม 2 ข้อ คือ รำมโนราห์เป็นหรือไม่ และขโมยควายเป็นหรือไม่ ถ้าไม่เป็นหรือขาดความรู้ ความสามารถข้อใดข้อหนึ่ง ฝ่ายพ่อตาแม่ยายก็จะไม่ยกลูกสาวให้ เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่ขาดความรู้ความสามารถ ขาดประสบการณ์ เนื่องจากศิลปะการแสดง สามารถนำไปเป็นอาชีพได้ อีกทั้งยังเป็นที่เชิดหน้าชูตาให้แก่ครอบครัวอีกด้วย ส่วนเรื่องขโมยควายนั้น ไม่ได้เป็นการส่งเสริมการลักขโมย แต่เป็นการแสดงออกถึงความกล้าได้กล้าเสีย มีความเป็นนักสู้ สามารถปกป้องคุ้มครองวัวควาย ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินของครอบครัวได้

มโนราห์ เป็นการละเล่นพื้นเมืองภาคใต้ที่สืบทอดกันมานานและนิยมกันอย่างแพร่หลาย เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ บ้างก็เล่นเป็นเรื่อง แสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากการร่ายรำของอินเดียโบราณ ก่อนสมัยศรีวิชัย มาจากพ่อค้าชาวอินเดีย สังเกตได้จากเครื่องดนตรีที่ เรียกว่า เบญจสังคีต ซึ่งประกอบด้วย โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ใน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโนรา รวมถึงท่ารำของโนราหลายท่าที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการร่ายรำของทางอินเดีย คาดว่าโนรากำเนิดขึ้นประมาณ พ.ศ.๑๘๒๐ ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนต้น

การบูชาครูมโนราห์ เป็นการแสดงความซื่อตรงและรำลึกคุณงามความดีของครูเป็นผู้ประสาทวิชาการรำมโนราห์ให้และเป็นการถ่ายทอดให้อนุชนรุ่นหลังสืบมา อีกส่วนหนึ่งของการรำมโนราห์ได้ภายในวงจะต้องประกอบไปด้วย ผู้รำ คนบรรเลงดนตรี คนขับบทกลอน ต้องคอยประสานกันถึงจะมีความสมบูรณ์แบบ ถ้าหากว่าขาดส่วนใดไปก็ไม่สามารถแสดงต่อหน้าสาธารณชนได้ เพราะขาดความสุนทรียภาพของการชมไปทุกส่วนย่อมมีความสำคัญมากไม่ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลัง อาทิ ตีกลอง ขับร้องกลอน และอื่นๆ หรือคนที่อยู่เบื้องหน้า คือ ตัวผู้รำที่สร้างความสุขให้กับผู้ที่มาชม ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามโนราห์เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมที่ดีงาม ที่ควรรักษาเอาไว้ให้อยู่จนถึงรุ่นลูกหลานสืบไป

การแสดงมโนราห์ นิยมจัดแสดงตามงานเทศกาลต่างๆในท้องถิ่นภาคใต้

โดยเฉพาะมีท่ารำที่อ่อนช้อย สวยงาม บทร้องเป็นกลอนสด ผู้ขับร้องต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ สรรหาคำให้สัมผัสกันได้อย่างฉับไว มีความหมายทั้งบทร้อง ท่ารำและเครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรีประกอบด้วย กลอง ทับคู่ ฉิ่งโหม่ง ปี่ชวา และกรับ ปัจจุบันพัฒนาเอาเครื่องดนตรีสากลเข้าร่วมด้วย ปัจจุบันมีการแสดงประเภทอื่นให้ดูมากขึ้น เช่น วงดนตรี คอนเสิร์ต ภาพยนตร์ โดยเฉพาะ โทรทัศน์ วีดีโอ และซีดี ที่มีหนัง มีละครให้ดูกันถึงบ้าน ทำให้ศิลปะการแสดงประเภทนี้ลดความนิยมลงไป จะหาชมได้ในโอกาสสำคัญๆ เช่น งานอนุรักษ์วัฒนธรรม ในพิธีไหว้ครูของมโนราห์ (โนราโรงครู) หรือในงานต่างๆ ที่เจ้าภาพผู้จัดยังมีความรักและชื่นชอบในศิลปะการแสดงประเภทนี้

This entry was posted in อินเตอร์เน็ต and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.